“ รู้รักษ์ภาษาไทย วิถีใหม่ ”

ผังรายการ
ยังไม่มีตารางออกอากาศ
ความเป็นมาของ
วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติเกิดขึ้นด้วย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปยังคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพื่อทรงร่วมการประชุมทางวิชาการภาษาไทย ทรงเป็นประธานของที่ประชุม และทรงร่วมอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" กับผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ ให้ปวงชนชาวไทยได้รักษาและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสม

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย อันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป

วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น นักปราชญ์และ นักภาษาไทยรวมทั้งเพื่อ น้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณของ พระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและ พระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการ ใช้ภาษาไทย
เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิม พระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทย ทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและ คุณค่า ของภาษาไทยตลอดจนร่วมมือ ร่วมใจกัน ทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็น สมบัติวัฒนธรรม อันล้ำค่าของชาติให้ คงอยู่คู่ชาติไทย ตลอดไป
เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ ภาษาไทยทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียน การสอนภาษาไทยในสถานศึกษา ทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่ หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษา ประจำชาติและในฐานะที่เป็นภาษา เพื่อการสื่อสาร ของทุกคนในชาติ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯและเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัยตระหนักในความสำคัญของภาษาไทยและร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคนและร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความ ถูกต้อง งดงามอยู่เสมอ รวมทั้งบุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสารช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไป อย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะ ของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติและยัง ส่งผลสืบเนื่องในระยะยาวที่จะทำให้ปวงชน ชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจ ที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทย ตลอดไป
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวด แต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น ภาษาไทยถือเป็น ภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจเพราะบางประเทศ ไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทย ให้คงอยู่และสืบทอด ต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทย ให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้